ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา [ความเป็นมา]

678 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา [ความเป็นมา]

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา Lanna Agricultural Heritage Learning Center (LAHLeC)

    ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา เป็นพื้นที่ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เพื่อทรงทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นเกษตรแม่โจ้ ความรัก ความสามัคคี และประเพณีของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นพื้นที่เตรียมการสาธิตด้านเกษตรล้านนา การจำลองวิถีชีวิตเกษตรกรในอดีต ภูมิปัญญาเกษตรพื้นบ้านท้องถิ่น เพื่อใช้สำหรับประกอบกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ให้แก่ นักศึกษา นักเรียน หรือผู้ที่สนใจ เข้าเยี่ยมชม เป็นแหล่งการเรียนรู้วิถีชุมชนเกษตร วัฒนธรรมล้านนาและมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้วิถีชุมชนเกษตรล้านนา ที่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้วิถีชีวิตเกษตรล้านนา เช่น การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกข้าว การใช้สัตว์ไถนา วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก การเลี้ยงสัตว์ โค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ การประมง การปลูกพืชสมุนไพร พืชไร่ พืชสวนและผลไม้ มุ่งหวังที่จะสร้างงานพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกษตรล้านนา สนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์การเกษตรท้องถิ่น สามารถเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นคลังความรู้ของนักศึกษา ชุมชน สร้างจิตสำนึกร่วมกันให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน และเป็นเวทีให้คนในท้องถิ่นถ่ายทอดประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความต้องการให้แก่คนรุ่นใหม่และคนภายนอกได้ศึกษา รวมถึงสนับสนุนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เกิดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในชุมชนที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ในวิถีเกษตรล้านนาอย่างแท้จริง

ประวัติความเป็นมา (ปัจจุบัน)
    ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรและเป็นอัตลักษณ์ของสถาบัน จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อเป็นฐานการเรียนรู้ที่ใช้ในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของคนล้านนา เป็นสถานที่ให้บริการทางด้านการฝึกอบรม สาธิตการทำการเกษตรแบบธรรมชาติและการทำเกษตรอินทรีย์ ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา การจำลองกลุ่มบ้านล้านนาและวิถีชีวิตของคนล้านนา การจัดนิทรรศการการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรล้านนา การไถนาโดยใช้ควาย วัฒนธรรมการปลูกข้าว การปลูกผักสวนครัวหลังบ้านและริมรั้วบ้าน การเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ เช่น ไก่หลุม หมูหลุม เป็นต้น การน้อมนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน เกษตรกร และผู้ที่สนใจในการเข้าศึกษาดูงาน สาธิตและฝึกอบรม และยังสนับสนุนการเรียนการสอน รายวิชา ผษ101 เกษตรเพื่อชีวิต ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และการลงปฏิบัติงานฟาร์มของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้

วัตถุประสงค์
1. เป็นแหล่งศึกษาความรู้แห่งใหม่ที่สามารถบูรณาการด้านศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนรายวิชา ผษ101 เกษตรเพื่อชีวิต
3. เป็นสถานที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการทำการเกษตรแบบธรรมชาติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

การถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีของคนล้านนา
1. พิธีกรรมแฮกนา ได้แก่ พิธีแฮกนาน้อย พิธีแฮกนาใหญ่
2. พิธีสู่ขวัญข้าว ได้แก่ พิธีแฮกเกี่ยวข้าว
3. พิธีมัดมือควาย หรือพิธีสู่ขวัญควาย
4. การใช้แรงงานสัตว์ในการไถนา
5. การจัดแสดงหย่อมบ้านล้านนา และ อุปกร์การดำรงชีวิตของคนล้านนา

การถ่ายทอดหลักสูตร “การทำเกษตรแบบธรรมชาติ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง”
    โดยการนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้ในการทำการเกษตร เน้นการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กระบวนการผลิต การปลูกพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ และการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยหลักสำคัญ ดังนี้
    การใช้ประโยชน์ ช่วยย่อยสลาย ปรับความเป็นกรด-ด่าง ทำให้ดินสามารถปล่อยแร่ธาตุได้ดี ทำให้ดินมีออกซิเจนไหลเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พืชต้านทานโรค ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต กำจัดกลิ่นเหม็น และกำจัดมลภาวะ

รับชมวิดีโอ แนะนำศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้


รับชมวิดีโอสอนหลักสูตร "การทำเกษตรแบบธรรมชาติ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง"


   คู่มือศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้