760 จำนวนผู้เข้าชม |
เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
เลี้ยงไก่แบบปล่อยอิสระ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการเนื่องจากแม่ไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ จะใช้ชีวิตตามธรรมชาติ มีการเลี้ยงด้วยอาหารที่ได้จากพืช ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้แม่ไก่อารมณ์ดี มีอายุยืนและผลิตไข่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
"ไข่ไก่" นับว่าเป็นเมนูหลักเมนูหนึ่งของคนไทยทุกครัวเรือน เนื่องจากไข่ไก่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู ราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งไข่ไก่ยังอุดมคุณค่าทางโปรตีนสูง ไข่ไก่ 1 ฟอง ประกอบด้วยโปรตีนสูงถึง 7 กรัม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำต่อวัน ทั้งนี้ไข่ไก่ยังให้ปริมาณแคลอรี่เพียง 75 แคลอรี่
"การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระ" เป็นการเลี้ยงไก่ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นระบบการเลี้ยงที่ปล่อยให้แม่ไก่ออกนอกโรงเรือนได้อย่างอิสระ การเลี้ยงไก่ลักษณะนี้ควรเลือกใช้พันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น ไก่ไข่พันธุ์ ได้แก่ ไก่โรดไทย ไก่บาร์ไทยและไก่พลีมัธร็อคไทย ส่วนไก่ไข่พันธุ์ลูกผสม ได้แก่ ไก่ไข่กรมปศุสัตว์1 ซึ่งไก่ไข่ ทั้งสองพันธุ์นี้สามารถหากินได้เองตามธรรมชาติ โดยจะต้องมีพื้นที่ในการเลี้ยงให้อยู่ห่างจากที่อยู่อาศัย อาจเป็นสวนหลังบ้าน สวนผลไม้ สวนป่า หรือบริเวณพื้นที่โล่งที่มีหญ้าปกคลุมโดยพื้นที่นั้นจะต้องไม่ใช้สารเคมีอย่างน้อย 3 ปี และควรตรวจสอบคุณภาพดินว่าปราศจากสารเคมีหรือโลหะหนัก และในส่วนของโรงเรือนหรือพื้นที่ปล่อยเลี้ยงอิสระต้องแยกจากที่พักอาศัยอย่างชัดเจน โดยในโรงเรือนใช้พื้นที่ 0.5 ตารางเมตรต่อตัว โครงสร้างโรงเรือนควรเป็นคอนกรีต มีวัสดุรองพื้นคอกหนา 3-5 นิ้ว และต้องมีรังไข่ 1 ช่องต่อแม่ไก่ 4 ตัว ควรมีประตูเข้าออก 2 ด้าน เพื่อหมุนเวียนปล่อยไก่ออกสู่แปลงอิสระ ส่วนพื้นที่ปล่อยอิสระควรมีบริเวณและมีหญ้าให้กิน 5 ตารางเมตรต่อตัว ในเรื่องของอาหารไก่จะสามารถหากินได้เองตามพื้นดิน พื้นหญ้า โดยอาจจะหาอาหารมาเสริม เช่น ผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกไว้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดปลอดสาร ต้นกล้วย พืชผักสวนครัวและสมุนไพร อาหารเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติ ทำให้ไก่ไม่เป็นโรคง่ายและมีอายุยืนได้ถึง 3 ปี
ดังนั้น... ไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระจะมีสุขภาพที่แข็งแรง อารมณ์ดีและมีความสุข ส่งผลให้ลักษณะของไข่ขาวจะมีสีข้นชัดเจน ส่วนไข่แดงจะมีสีเข้มและนูนเด่น เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารจะมีความหอมมันและรสชาติดี อีกทั้งยังมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าไข่ไก่เชิงอุตสาหกรรมถึง 7 เท่า มีวิตามินอีมากกว่า 3 เท่า และมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าถึง 2 เท่า และนี่ถือเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่หันมาบริโภคไข่จากไก่อารมณ์ดี
ข้อมูลโดย : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กลุ่มวิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์
การผลิตอาหารไก่ [ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา]
แบ่งออกเป็น 2 ส่วนส่วนผสมที่ 1 การหมักวัตถุดิบ (ต้นกล้วย ผักสด ฯลฯ)
1.1 สูตร (50 : 2 : 0.5)
50 กิโลกรัม = ต้นกล้วย ผักสด ฯลฯ
2 กิโลกรัม = น้ำตาลทรายแดง
0.5 กิโลกรัม = เกลือทะเล (เม็ด)
1.2 วิธีทำ
(1) หั่นต้นกล้วยหรือผักสดเป็นชิ้นๆ 2-4 เซนติเมตร รวม 50 กิโลกรัม
(2) ในกรณีใช้ถังพลาสติก ปริมาตร 30 แกลลอน (หมักได้ 50 กิโลกรัม) แบ่งถังออกเป็น 4 ส่วน ถ้าเป็นถุงพลาสติกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
(ปิดฝาให้สนิทของมันเอง)
ชั้นที่ 4 ทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 3
ชั้นที่ 3 ทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 2
ชั้นที่ 2 ทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 1
ชั้นที่ 1 ต้นกล้วยหรือผัก 12.5 กก.
- ขึ้นเหยียบให้แน่น
- โรยเกลือ 1 กำมือ
- โรยน้ำตาลทราย 0.5 กก.
1.3 ทิ้งไว้ 8-12 วัน นำไปให้ไก่ หมูและสัตว์อื่นๆ กิน (ยกเว้นสัตว์กินสัตว์)
ส่วนผสมที่ 2 การผสมอาหารให้สัตว์กิน
2.1 อัตราส่วน
(1) แกลบกลาง 30 กิโลกรัม
(2) ดินแดง 8 กิโลกรัม
(3) มูลสัตว์แห้ง (ถ้ามีมูลหมูเล็กยิ่งดี) หรือขี้วัว 8 กิโลกรัม
(4) กระดูกป่น/เปลือกไข่ป่นหรือเปลือกหอยป่น 1.5 กิโลกรัม
(5) กากถั่วเหลืองป่น หรือใบกระถิน หรือกากถั่วงอก 5 กิโลกรัม
(6) ปลาป่น หรือขี้ปลา หรือเนื้อหอยป่น 1.5 กิโลกรัม
(7) ข้าวโพดป่น หรือปลายข้าว หรือมันต่างๆ ป่น 13 กิโลกรัม
รวม 67 กิโลกรัม
(8) อาหารหมัก 50 กิโลกรัม
(9) น้ำหมักจุลินทรีย์ 7 ชนิด
รวม 117 กิโลกรัม
2.2 การผสม
(1) ผสมอาหารแห้ง คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน 2 รอบ
(2) นำส่วนที่ 1 (การหมักวัตถุดิบ) มาเทไว้บนกอง ราดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ 7 ชนิดๆ ละ 2 ช้อนผสมน้ำ 10 ลิตร ราดบนกอง ผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ไป-กลับ 2 รอบ นำไปให้สัตว์กินได้เลย
2.3 วิธีเก็บ
(1) กองไว้บนดินคลุมด้วยผ้าหรือวัสดุอื่นที่มีอากาศผ่านได้
(2) ใส่ถุงปุ๋ยหรือถุงอาหารสัตว์ ที่มีอากาศผ่านได้
(3) เก็บไว้ในที่ร่มบนดิน
การให้อาหารและน้ำ
1. การให้อาหาร
1.1 ใช้อาหารหมักจากต้นกล้วย หรือ พืชผัก สูตร 50 : 2 : 0.5 (เป็นส่วนที่ 1)
1.2 ใช้วัสดุ ประกอบด้วยแกลบกลาง ดินแดง มูลสัตว์แห้ง รำอ่อน กระดูกป่น ข้าวโพดป่น ปลาป่น กากถั่วเหลืองป่น (เป็นส่วนที่ 2)
1.3 นำ 1.1 และ 1.2 มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ไป-กลับ 2 ครั้ง
1.4 วิธีการเก็บอาหารที่ผสมแล้ว
(1) ในกรณีผสมบนดินให้กองบนพื้นดินเป็นรูปภูเขาปลายแหลมใช้ผ้าหรือถุงอาหารสัตว์ที่อากาศผ่านได้คลุมให้ทั่วกอง
(2) ในกรณีผสมบนซีเมนให้ใส่ถุงที่มีอากาศผ่านได้ ตั้งไว้ในที่ร่มบนดิน
2. การให้น้ำ (ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ 7 ชนิดอย่างละ 2 ช้อน ต่อน้ำ 10 ลิตร)
2.1 ผสมจุลินทรีย์ที่หมัก เช่น จากพืชสีเขียว ผลไม้สุก กุ้ง หอย ปู ปลา รกหมู ไส้เดือน อัตราส่วน 2 ช้อน ต่อน้ำ 10 ลิตร
2.2 ผสมฮอร์โมนพืชสมุนไพร (เหล้ายาดอง) 1 ช้อนลงในน้ำ
2.3 ผสมจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส อัตรา 2 ช้อน ต่อน้ำ 10 ลิตร
3. หมั่นตรวจดู อย่าให้น้ำสกปรก และอย่าให้ขาดน้ำ
4. หากมีการล้างที่ให้น้ำสัตว์ ควรเอาน้ำสาดลงบนพื้นคอก จะทำให้จุลินทรีย์ลงไปช่วยระงับกลิ่น และเชื้อราขาวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
หมายเหตุ : พื้นคอกควรโรยด้วยหัวเชื้อราขาวแล้วราดด้วยจุลินทรีย์ 7 ชนิด (ชนิดละ 2 ช้อน) ผลมน้ำตาลทรายแดง 2 ช้อน ต่อน้ำ 10 ลิตร ใส่-ราด-พ่น 3-5-7 วันต่อเดือน
รายละเอียดการให้อาหารไก่ (เลี้ยงตั้งแต่อายุ 1 วัน)
เดือนที่ 1 ให้อาหารไก่ระยะแรก 100%
เดือนที่ 2 ให้อาหารไก่ระยะสอง 1 อาทิตย์ อีก 1 อาทิตย์ใช้อาหารสุกรเล็ก 50% ผสมอาหารผสมเอง 50% หลังจากนั้นให้อาหารผสมเอง 100%
รับชมวิดีโอ การสร้างเล้าไก่แบบเกษตรธรรมชาติ
รับชมวิดีโอ การผลิตอาหารไก่ไข่อินทรีย์ [ลดต้นทุน ได้ไก่คุณภาพสูง ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม]