เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ [แนวคิด]

397 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ [แนวคิด]

เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

    สืบเนื่องจากการที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)  ครั้นทรงเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร ให้แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 ทรงมีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ความตอนหนึ่งว่า “...ทุกวันนี้แม้ประเทศของเราจะพัฒนาด้านอุตสาหกรรมไปมากแล้วก็ตามแต่การเกษตรก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จะละเลยทอดทิ้งไม่ได้...ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีปฏิบัติอีกแนวทางหนึ่ง ที่คิดค้นขึ้นสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย..ฯลฯ” มหาวิทยาลัยแม่โจ้สนองพระบรมราโชวาท ได้ตั้งฐานเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2539 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกษตรกร นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจทั่วไป เข้ามาศึกษาดูงานและน้อมนำเอาแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ตนเอง และแบ่งพื้นที่จำนวน 15 ไร่ ออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้ น้ำ 30% นาข้าว 30% ไม้ผล 30% และที่อยู่อาศัย 10% โดยมีกิจกรรมในแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประกอบด้วย 9 กิจกรรมได้แก่  1. กิจกรรมการปลูกพืชผัก 2. กิจกรรมการปลูกกล้วย 3. กิจกรรมการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น 4. กิจกรรมการปลูกข้าว 5. กิจกรรมการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ 6. กิจกรรมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง 7. กิจกรรมการเลี้ยงสุกร  แบบประยุกต์ 8. กิจกรรมการเลี้ยงปลาในกระชัง 9. กิจกรรมเกษตรกรรมสมัยใหม่

กษัตริย์เกษตร
   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนัก โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากของพระองค์เอง อันเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ในด้านทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม และพลังงาน เพื่อประโยชน์ของภาคการเกษตรไทยซึ่งเป็นอาชีพหลักของพสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ในอดีต
    มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2477 ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีรากฐานทางการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณสนองงานด้านต่างๆ นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จมายังแม่โจ้ และได้สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง และโครงการในพระองค์อีกหลายโครงการ โดยเฉพาะด้านการเกษตร สืบเนื่องเรือยมาดังนี้

เสด็จพระราชดำเนินมาแม่โจ้เป็นครั้งแรก
    นับตั้งแต่องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ได้เริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2504 ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ และได้เจริญรุดหน้าเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการของ อกท. หน่วยแม่โจ้ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ณ สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2515 ซึ่งได้รับความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2516 นับเป็นวันมหามงคลยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจกรรม อกท. หน่วยแม่โจ้ ทรงมีพระราชดำรัสแก่นักศึกษาและคณาจารย์เป็นครั้งแรกที่แม่โจ้ โดยมีอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย นำคณะนักศึกษาเฝ้ารับเสด็จ ด้วยความปลื้มปิติ จึงถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวแม่โจ้

ทรงประกาศเกษตรทฤษฎีใหม่ที่แม่โจ้
    วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกาศเกษตรทฤษฎีใหม่ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตแม่โจ้ ณ อาคารแผ่พืชน์ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ความว่า “...ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีปฏิบัติการเกษตรอีกแนวทางหนึ่งสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย มีหลักสำคัญอยู่ว่า แต่ละแปลงจะแบ่งออกเป็นส่วน สมมติว่าแปลงหนึ่งมี 15 ไร่ จะปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผัก สวนครัว 5 ไร่ ขุดสระน้ำ 3 ไร่ ปลูกที่อยู่อาศัยและ อื่นๆ อีก 2 ไร่ วิธีนี้ได้ทดลองปฏิบัติขั้นแรกมานานพอสมควร และได้ผลดีที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ในขั้นที่สองก็จะต้องรวมกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ด้วยความร่วมมือของหน่วยราชการ มูลนิธิและเอกชน เพื่อช่วยเหลือในด้านการผลิต การตลาด และในขั้นที่สามจะต้องร่วมมือกับสถาบันการเงินและการพลังงาน เพื่อช่วยเหลือด้านการจัดตั้งและบริหารโรงสีร้านสหกรณ์ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุน...” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้สนองพระบรมราโชวาทจึงได้ตั้งฐานเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ ขึ้น และดำเนินการ เผยแพร่องค์ความรู้เรื่อยมา

 

 

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ โครงการหลวง
    ในปี 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดฯ ให้คณาจารย์จาก 3 สถาบันการศึกษา ซึ่งรวมถึงคณาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) ออกไปส่งเสริมอาชีพชาวเขาหมู่บ้านต่างๆ ในถิ่นทุรกันดารหลายแห่ง เรียกชื่อในสมัยนั้นว่า โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา โดยแต่ละสถาบันต้องรับผิดชอบหมู่บ้านที่เข้าไปพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ซึ่งอาจารย์จากแม่โจ้ก็ได้ผลัดเปลี่ยนกันออกไปปฏิบัติงานติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยค้นคว้าร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงหลายส่วน และมีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบงานส่งเสริม จำนวน 5 แห่ง นอกจากนั้นยังมีศิษย์แม่โจ้กระจายตัวถวายงานในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ทั้ง 38 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนืออีกด้วยถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวแม่โจ้ที่ได้ผลิตบัณฑิตคนเกษตรแม่โจ้ สนองงานในพระองค์ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง
ปี พ.ศ. 2523 สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีเกษตรแม่โจ้ ได้จัดตั้งฝ่ายพัฒนาเกษตรที่สูงขึ้น เพื่อปฏิบัติภารกิจสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวง โดยรับผิดชอบศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 5 ศูนย์ ดังนี้

1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ  ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2513
2. ศูนย์พัฒนาโครการหลวงทุ่งหลวง  ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2522
3. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง  ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2523
4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่  ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2525
5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม  ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2526

 

 
โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
    โครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2551 โดยมีพันธกิจตามมติคณะรัฐมนตรี คือ เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ตรงจากแนวทางโครงการพระราชดำริมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกับส่งเสริมการเรียนรู้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่และส่งเสริมอาชีพประชาชนรวมทั้งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรมไทย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ให้เป็นผู้ประสานงานและดำเนินโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ในพื้นที่บ้านปาง หมู่ที่ 8 ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการขยายผลงานโครงการสู่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างกว้างขวางและเพื่อความอยู่ดีมีสุข ของประชาชนภายใต้หลักการดำเนินงาน 6 มิติ คือ น้ำ ดิน ป่า เกษตร สิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จไปประทับที่วังไกลกังวล มีชาวบ้านนำหัวมันเทศซึ่งเป็นพืชที่ปลูกอยู่ในท้องถิ่นมาถวาย ครั้นต้องเสด็จกลับพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ รับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศนั้นไปวางบนตาชั่ง ในห้องทรงงาน และเมื่อเสด็จกลับมาที่หัวหินทรงพบว่า มันเทศหัวนั้นแตกใบออกมา พร้อมตรัสว่า "มันอยู่ที่ไหนก็ขึ้น” จึงมีรับสั่งให้นำหัวมันเทศไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วจึงมีพระราชดำรัสให้ผู้เกี่ยวข้องจัดหาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ ซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกขึ้นได้ทุกที่แม้ว่าจะวางตั้งทิ้งไว้บนตาชั่งนั่นเอง
    ปัจจุบันพื้นที่โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริเป็นศูนย์การพัฒนาแหล่งรวมพันธุ์พืชและไม้ผลที่สำคัญ แหล่งเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เรื่องการใช้กังหันลมเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทน การปลูกพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมียางพารา ข้าว หน่อไม้ฝรั่ง และผักปลอดสารพิษกว่า 40 ชนิด ด้านปศุสัตว์ที่ทรงเลี้ยงโคนมและไก่ไข่ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนแล้วยังเป็นแนวทางและเป็นแบบอย่างให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมโครงการนำความรู้ที่ได้ ไปประยุกต์พัฒนาคุณภาพชีวิตให้อยู่ดีกินดีได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
โครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
    วันที่ 2 มีนาคม 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยฯ หาลู่ทางเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาต้นน้ำห้วยแม่โจ้และพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งแก่ราษฎร ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินการสนองพระราชประสงค์ หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโจ้และโครงการพระราชดำริบ้านโปง อีกหลายครั้งโดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยกันดูแลรักษาและให้ปลูกไม้โตเร็วเพิ่มเติม ดังนั้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ศึกษาและพัฒนาป่าบ้านโปงขึ้น เนื้อที่ 3,686 ไร่ และเนื้อที่ 907 ไร่ โดยได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้ (เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศึกษาวิจัย ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ) ส่งผลให้ในปัจจุบันป่าบ้านโปงเป็นป่าใกล้เมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของชาวเชียงใหม่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดูแลร่วมกับชุมชน

แม่โจ้เปิดการสอนหลักสูตรศาสตร์ของพระราชา “การพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน”
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่ใช้แนวคิดอันเหมาะสมและสอดคล้องกับภูมิสังคม ซึ่งทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานความคิดเรื่องความพอเพียง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการสนับสนุนของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศอีกหลายท่าน จึงได้จัดการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน ผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรอบรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่ให้สังคมเรียนรู้พระราชปรัชญา แนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรก และแห่งเดียวที่เปิดหลักสูตรที่น้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์ของพระราชาอย่างเป็นรูปธรรม จากต้นน้ำด้วยศาสตร์ของพระราชาถึงกลางน้ำ แม่โจ้รับสนองงานต่อยอดสู่ปลายน้ำส่งเสริมพัฒนาสร้างอาชีพความยั่งยืนให้เกษตรกร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้