487 จำนวนผู้เข้าชม |
ฐานการเลี้ยงปลาในกระชัง
การเลี้ยงปลานิลในกระชังโดยโครงสร้างกระชังแบบท่อ PVC
ปลานิล (Oreochromis niloticus) นำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 50 ตัว เมื่อ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 พระองค์ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ปลา ชนิดนี้ให้กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์ และทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”
การเลี้ยงปลานิลในกระชัง เป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดระยะเวลา การเลี้ยงให้สั้นลงทำให้ สะดวกในการดูแลจัดการ การเคลื่อนย้าย รวมทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตและมีการลงทุนต่ำกว่ารูปแบบการเลี้ยงอื่น ๆ ตลอดจนผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง
การให้อาหาร และการจัดการระหว่างการเลี้ยง
1. อาหารสำหรับลูกปลา จะต้องมีระดับโปรตีนประมาณ 30-40 % แต่ในปลาใหญ่ อาหารต้องมีโปรตีนประมาณ 25-30 %
2. เวลาในการให้อาหาร ควรให้อาหารในช่วงเวลากลางวัน เพราะกลางวันมีปริมาณ ออกซิเจนละลายในน้ำสูง
3. ความถี่ในการให้อาหาร ควรให้อาหารน้อยแต่ให้บ่อย ๆ โดยความถี่ที่เหมาะสม คือ ปริมาณ 4-5 ครั้งต่อวัน
4. อัตราการให้อาหาร ปริมาณอาหารที่ให้ปลากินจะขึ้นอยู่กับขนาดของปลาและอุณหภูมิ หากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นจะทำให้อัตราการกินอาหารของปลาสูงขึ้นตามไปด้วย อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส
5. การจัดการระหว่างการเลี้ยง ควรมีการตรวจสอบกระชังเพื่อซ่อมแซม ส่วนที่ชำรุด ทุก ๆ สัปดาห์รวมทั้งสุ่มปลามาตรวจสอบน้ำหนักเพื่อปรับปริมาณอาหารที่ให้ได้อย่างเหมาะสม
6. การเก็บเกี่ยว เป็นข้อควรคำนึงถึง ในเรื่องขนาดของปลาและปริมาณที่ตลาดต้องการ
ต้นทุนการสร้างกระชังแบบท่อ PVC (ขนาด 4 x 4 x 2 เมตร)
รูปร่างและขนาดของกระชัง
กระชังที่ใช้เลี้ยงปลานิลมีหลายรูปทรง แต่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะมีพื้นที่ผิวที่ให้กระแสน้ำไหลผ่านได้มากกว่ากระชังรูปแบบอื่น ๆ ส่วนขนาดกระชังที่ใช้เลี้ยง จะ แตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกร ขนาดกระชังที่นิยมใช้ โดยทั่วไป คือ กระชังสี่เหลี่ยม ขนาด 2 x 2 x 2 หรือ 4 x 4 x 2 เมตร ชนิดของกระชังเลี้ยงปลามีดังนี้
1. กระชังประจำที่ กระชังแบบนี้จะมีการผูกยึดตัวกระชังติดกับเสาที่ปักไว้กับพื้นดินใต้น้ำ ตัวกระชังไม่สามารถลอยขึ้นตาม ระดับน้ำได้ เหมาะสำหรับแหล่งน้ำที่ระดับลึกไม่เกิน 2 เมตร นิยมใช้สำหรับการเลี้ยงและการอนุบาลลูกปลา
2. กระชังลอยน้ำ กระชังแบบนี้ตัวกระชังจะถูกแขวนอยู่บนแพหรือทุ่นลอยน้ำเหมาะสำหรับแหล่งน้ำที่มีระดับความลึกมากกว่า 2 เมตร กระชังแบบนี้ทำด้วยอวนไนล่อนเป็นดอกสี่เหลี่ยมคล้ายมุ้งหงายท้องเชือก คร่าวด้านบนจะมัดติดกับแพหรือทุ่นลอย คร่าวล่างมีวัสดุที่มีน้ำหนักถ่วงไว้หรือทำโครงกระชังด้วยเหล็ก หรือท่อ PVC เพื่อให้กระชังคงรูปอยู่ได้และไม่ลู่ไปตามกระแสน้ำ วางหรือผูกติดแพกับทุ่นลอย กระชั งลอยน้ำสามารถทำได้ทั้งการเพาะพันธุ์การเลี้ยง และการอนุบาลลูกปลาแบบครบวงจร
ฐานเลี้ยงไก่พื้นเมือง
ในโรงเรือนกึ่งขัง-กึ่งปล่อยในขอบเขตที่กำหนด
ไก่พื้นเมืองถือว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชาวบ้านในชนบทที่มีราคาถูก หาง่ายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวเกษตรกร เนื้อของไก่พื้นเมืองยังมีรสชาติที่ดี เนื้อแน่นและไขมันน้อย ทำให้ไก่พื้นเมืองมีราคาสูงกว่าไก่กระทง เกษตรกร นิยมเลี้ยงเพราะสามารถปรับตัวในสภาพชนบทได้ดี หากินได้เองตามธรรมชาติ มีความต้านทานความเครียดจากความร้อนและทนทานต่อโรคได้ ลักษณะเด่นของไก่พื้นเมืองดังกล่าว ทำให้ไก่พื้นเมืองยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
ควรเลี้ยงไก่ระบบนี้ต้องสร้างโรงเรือนให้ไก่ได้อาศัย โดยผู้เลี้ยงให้อาหารอย่างพอเพียง โดยปล่อยออกหากินในตอนเช้า และตอนเย็นให้อาหารกินอย่างเต็มที่ วิธีการนี้ ลงทุนค่าอาหารเพิ่มขึ้น เลี้ยงไก่ได้จำนวนมากขึ้น การให้อาหารเสริม เช่น หญ้า เศษผัก ผลไม้ หนอน แมลง สามารถนำมาให้ไก่กินเป็นอาหารเสริมได้
การเลี้ยงไก่ในระบบกึ่งขัง-กึ่งปล่อยเป็นหนทางไปสู่การผลิตในระบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพดี อย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และผลผลิตมีคุณภาพสูง
ลักษณะโรงเรือน
1. สามารถป้องกันแดดกันฝนได้ดี
2. ภายในโรงเรือน โปร่งไม่อับทึบ ไม่ชื้น และระบายอากาศดี
3. ป้องกันศัตรูต่าง ๆ ได้ เช่น สุนัข แมว นกและหนู
4. แยกจากที่พักอาศัย สะดวกในการปฏิบัติงาน มีที่ให้อาหารและน้ำ
การคำนวณต้นทุนการขุนไก่พื้นเมือง
- ต้นทุนการผลิตต่อลูกไก่ 1 ตัว
- ค่าลูกไก่ 20 บาท/ตัว
- ค่าอาหาร 45 บาท/ตัว
- ค่าน้ำ + ค่าไฟ 1.00 บาท/ตัว
รวมต้นทุนประมาณ = 66 บาทต่อตัว วันที่น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ราคาขายไก่เป็นกิโลกรัมละประมาณ 80 บาท x 1.0 กิโลกรัม (ราคาท้องถิ่นทั่วไป) = 80 บาท ดังนั้นจะมีกำไร ตัวละประมาณ 80 - 66 = 14 บาท
ฐานการเลี้ยงสุกรแบบประยุกต์
เป็นการเลี้ยงสุกรแบบผสมผสานโดยการใช้วิธีการเลี้ยงสุกรแบบฟาร์มกับการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) โดยการนำข้อดี ของแต่ละแบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงมากที่สุด
ข้อดีของการเลี้ยงสุกรแบบฟาร์ม คือ สุกรที่นำมาเลี้ยงจะเป็นสุกรพันธุ์เนื้อ โตไว คุณภาพเนื้อมาก ขายได้ราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนข้อดีของการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) คือ ลดมลภาวะเรื่องกลิ่นเหม็นไม่ต้องเก็บกวาดทำความสะอาดทุกวันและสามารถเลี้ยงในชุมชน ได้โดยไม่มีกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน ต้นทุนค่าอาหารต่ำ ดังนั้นจึงนำเอาวิธีการเลี้ยงสุกรทั้งสองแบบมา ปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน
วิธีการเลี้ยงสุกรแบบประยุกต์
1. สร้างโรงเรือน (คอก) ใช้เหล็ก ไม้ อิฐบล็อค และวัสดุต่าง ๆ ที่จะหาได้แต่ละท้องถิ่น (แต่ต้องคำนึงถึงความคงทน แข็งแรง และไม่ต้องซ่อมแซมบ่อย ๆ)
2. พื้นคอกไม่ต้องเทปูน ใช้พื้นดินเป็นพื้นคอก แต่ผนังคอกทั้ง 4 ด้านต้องแข็งแรงไม่พังง่าย (ในกรณีที่เป็นพื้นที่ดอนก็สามารถที่จะขุดดินให้ลึกลงไปได้อีก แต่อย่าให้ต่ำกว่าระดับน้ำที่มีอยู่โดยรอบ เพราะจะทำให้น้ำไหลมาอยู่รวมกันในหลุม จะทำให้คอกแฉะและเป็นสาเหตุให้สุกรป่วยได้)
3. มีที่ให้อาหารอยู่ด้านหน้าและที่ให้น้ำ ควรอยู่หลังคอก
4. นำเศษวัสดุ เช่น ฟางข้าว แกลบหยาบ ก้อนเห็ดเก่า หรือใบไม้แห้งหาได้ง่ายมาใส่รองพื้นให้ได้ระดับ แล้วทับด้วยแกลบดิบชั้นบนสุดเพื่อป้องกัน การยุบตัวของวัสดุ
5. ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ เช่น จุลินทรีย์ EM หรือสารเร่ง พด.6 หรือ เชื้อราขาวอย่างใดอย่างหนึ่ง (ผสมในอัตราส่วนที่แนะนำ) มารดวัสดุที่รองพื้นคอกให้ชุ่มพอประมาณ ทิ้งไว้ 2-3 วัน ก่อนนำสุกรลงเลี้ยงเพื่อเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ที่จะกำจัดของเสียที่สุกรจะขับถ่ายออกมา และลดฝุ่นลงไปในตัวไม่ให้ฝุ่นเข้าปากและจมูกสุกร เป็นสาเหตุที่ทำให้สุกรไอหรือจาม หลังจากที่นำสุกรลงเลี้ยงให้ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์รดพื้นคอก ทุก ๆ 3-7 วัน
6. การให้อาหารสุกร มี 2 วิธี วิธีที่ 1 ให้อาหารข้น 100 เปอร์เซ็นต์ วิธีที่ 2 ให้อาหารข้น 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าอาหาร (อาหารหมัก คือ อาหารที่ได้จากการนำเอาพืชหรือเศษผักนำมาหมักในอัตราส่วน พืช 100 กิโลกรัม กากน้ำตาล 4 กิโลกรัม)
7. ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดคอกสุกรทุกวัน เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการทำงาน เพียงแค่คอยสังเกตดูว่าสุกรขับถ่ายอยู่ที่มุมไหนเป็นประจำ ถ้าพื้นคอกตรงที่สุกรขับถ่ายเป็นประจำเปียกชื้นมากหรือเริ่มแฉะ ให้ใช้คราด หรือจอบ ปรับสลับเอาตรงที่เปียกมาไว้ที่แห้ง แล้วนำส่วนที่แห้ง มาไว้ที่เปียก เป็นการสลับที่กันหรืออาจมีการเติมแกลบลงไปในพื้นคอกกรณีที่มีการยุบตัวของวัสดุที่อยู่ในคอก
การเลี้ยงสุกรขุน 1 ตัว โดยการใช้อาหารสำเร็จรูป (อาหารข้น)
ค่าสุกรขุน 1 ตัว น้ำหนัก 13-15 กิโลกรัม 1,500 บาท
ค่าอาหารสำเร็จรูป 240 กิโลกรัม 3,571 บาท รวมต้นทุนการเลี้ยงสุกรขุน 1 ตัว 5,071 บาท
ขายสุกรขุน 1 ตัว น้ำหนัก 90 กิโลกรัมๆ ละ 62 บาท 5,580 บาท จะได้กำไร ตัวละ 501 บาท
*ถ้าใช้อาหารที่ผสมเองก็จะได้กำไรประมาณ ตัวละ 1,200 บาท (อาหารผสมเอง กิโลกรัมละ 12 บาท)
*มูลสุกรสามารถนำไปใช้ใส่พืชที่ปลูกและนำไปจำหน่ายได้ราคาถุงละ 30 บาท
วีดิทัศน์แนะนำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้