982 จำนวนผู้เข้าชม |
การผลิตข้าวอินทรีย์
การผลิตข้าวอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้ สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดในทุกขั้นตอนการผลิต เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย
การผลิตข้าวอินทรีย์มีขั้นตอนการปฏิบัติ เช่นเดียวกับการผลิตข้าวโดยทั่วไปจะแตกต่างกันที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอนการผลิตจึงมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
1. การเลือกพื้นที่ปลูก
เลือกพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ติดต่อกัน และมีความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยธรรมชาติค่อนข้างสูงประกอบด้วย ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของข้าวอย่างเพียงพอ มีแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก ไม่ควรเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานหรือมีการปนเปื้อนของสารเคมีสูง และห่างจากพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีการเกษตร
2. การเลือกใช้พันธุ์ข้าว
ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ มีความบริสุทธิ์ ตรงตามพันธุ์ ไม่มีสิ่งเจือปน มีคุณภาพตามมาตรฐานความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 98% ความงอกไม่น้อยกว่า 80% พันธุ์อื่นปนไม่เกิน 0.2%
3. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน ผลิตจากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการดูแลอย่างดี มีความงอกดี ผ่านการเก็บรักษาโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ปราศจากโรค แมลงและเมล็ดวัชพืช
4. การเตรียมดิน
การเตรียมดินมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างสภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกและการเจริญเติบโตของข้าว ช่วยควบคุมวัชพืช โรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าวบางชนิด การเตรียมดินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณสมบัติดิน สภาพแวดล้อมในแปลงนาก่อนปลูกและวิธีการ ปลูก โดยไถดะ ไถแปร คราด และทำเทือก
5. วิธีปลูก
การปลูกข้าวแบบปักดำจะเหมาะสมที่สุดกับการผลิตข้าว เพราะการเตรียมดิน ทำเทือก การควบคุม ระดับน้ำในนาจะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้และการปลูกกล้าข้าวลงดินจะช่วยให้ข้าวสามารถแข่งขันกับวัชพืช ได้ ต้นกล้าที่ใช้ปักดำควรมีอายุประมาณ 30 วัน เลือกต้นกล้าที่เจริญเติบโตแข็งแรงดี ปราศจากโรคและแมลงทำลาย
6. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน
เนื่องจากการปลูกข้าวอินทรีย์ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี โดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทน ในช่วงการเตรียมดินอัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ และช่วงระยะแตกกออัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเหมาะสมกับการปลูกข้าวอินทรีย์
7. ระบบการปลูกพืช
ใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียนโดยการปลูกข้าวสลับกับพืชตระกูลถั่ว หรือปอเทือง เพื่อลดการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืช อีกทั้งยังลดการเกิดวัชพืชในนาข้าวได้อีกด้วย
8. การควบคุมวัชพืช
ให้ควบคุมวัชพืชโดยวิธีกล เช่น การเตรียมดินที่เหมาะสม วิธีการทำนาที่ลดปัญหาวัชพืช การใช้ระดับน้ำควบคุมวัชพืช การใช้วัสดุคลุมดิน การถอนด้วยมือ วิธีเขตกรรมต่าง ๆ การใช้เครื่องมือ รวมทั้งการปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น
9. การป้องกันกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูพืช
- ใช้สารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่ผลิตจากสารเร่ง พด.7 ที่เจือจางแล้วอัตรา 50 ลิตรต่อไร่ สำหรับใช้ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยต่างๆ หนอนเจาะผลและลำต้น หนอนใยผัก หนอนชอนใบ หนอนคืบ หนอนกระทู้ หนอนกอ ไรแดง และแมลงหวี่ เป็นต้น
- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดในรูปน้ำสามารถใช้เชื้อสดผสมน้ำในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่จะได้เชื้อชนิดน้ำสำหรับ ใช้พ่น ราด รดลงดิน หรือพ่นส่วนบนของต้นพืช
10. การจัดการน้ำ
การจัดการน้ำ ระดับน้ำมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางลำต้นและการให้ผลผลิตของข้าวโดยตรง ในระยะปักดำจนถึงแตกกอ ควรรักษาระดับน้ำให้อยู่ที่ประมาณ 5 เซนติเมตร จนถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยว ประมาณ 7-10 วัน จึงระบายน้ำออกเพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน
11. การเก็บเกี่ยวการนวดและการลดความชื้น
เก็บเกี่ยวข้าวหลังจากออกดอก ประมาณ 28-30 วัน สังเกตจากเมล็ดในรวงข้าวสุกแก่เมล็ดเปลี่ยนเป็นสีฟาง เรียกว่า ระยะพลับพลึง
12. การเก็บรักษาข้าวเปลือก
ควรมีการลดความชื้นให้ต่ำกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ แล้ว จึงนำเมล็ดข้าวไปเก็บรักษาในยุ้งฉางหรือใส่ในภาชนะที่มิดชิด
13. การสี
ควรแยกเครื่องสี ไม่ใช้เครื่องสีร่วมกับเครื่องสีข้าวปกติที่ไม่ใช่ข้าวอินทรีย์
14. การบรรจุหีบห่อเพื่อการค้า
ควรบรรจุข้าวกล้องหรือข้าวสารในถุงขนาดเล็กตั้งแต่ 1 กิโลกรัม ถึง 5 กิโลกรัม โดยบรรจุในสภาพสุญญากาศ
ข้อมูลการผลิตข้าวอินทรีย์โดย : อาจารย์ ดร.ธิดารัตน์ ศิริบูรณ์ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
วิดีโอการผลิตข้าวเหนียวพันธุ์ กข แม่โจ้ 2